กิจกรรมการเรียนแบบมอนเตสซอรี 

               1. การศึกษาด้วยมือ   ในห้องเรียนระบบมอนเตสซอรี เด็กจะแทบไม่ได้เรียนจากหนังสือ ในทุกๆ กรณี การเรียนแบบลงมือทำเอง หรือภาคปฏิบัติ หรือได้จับต้องหรือสัมผัสและใช้อุปกรณ์การเรียนต่างๆ ด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

               2. กิจกรรมที่เป็นไปโดยธรรมชาติ  เป็นเรื่องธรรมชาติปกติสำหรับเด็กที่จะพูด เคลื่อนไหว จับต้องสิ่งต่างๆ และค้นคว้าโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ตามสภาพแวดล้อมแบบมอนเตสซอรีอย่างแท้จริง จะส่งเสริมและปล่อยให้เด็กมีอิสระเสรีอย่างมีเหตุมีผล โดยไม่เกินขีดจำกัดของพฤฒิกรรมอันดีที่ควรมี โดยในเวลาส่วนใหญ่ เด็กจะใช้ไปกับการเลือกทำกิจกรรมที่ได้รับมอบแบบตัวต่อตัว ในเรื่องที่ตนเองสนใจ

                3. การเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น   ในสภาพแวดล้อมแบบมอนเตสซอรี เด็กไม่เพียงแต่สามารถเลือกประกอบกิจกรรมที่ครูหยิบยื่นให้ แต่ยังสามารถที่จะทำงานนั้นๆ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานนับสัปดาห์ หรือเดือน จนกระทั่งงานนั้นๆ ดูเหมือนจะง่ายดายสำหรับเขา จนเขาสามารถสาธิตให้เด็กรุ่นเล็กกว่าทำได้ นี่เป็นหนึ่งในวิธีการที่ผู้ให้การศึกษาระบบมอนเตสซอรีใช้ในการวัดความสามารถของเด็ก ว่าถึงระดับความชำนาญในสิ่งนั้นๆ

                4. ประกอบกิจกรรมตามแรงจูงใจ   หนึ่งในแนวความคิดแบบมอนเตสซอรี คือ เด็กมีความต้องการเป็นตัวของตัวเอง เห็นว่าตนเป็นสิ่งมีชีวิตอันมีค่าในโลก และเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จนชำนาญ ด้วยเหตุนี้ การตอบแทนด้วยรางวัลจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และอาจนำเด็กเหล่านี้ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง และต้องขออนุญาตทุกๆ สิ่งทุกอย่าง แม้แต่การสานฝันของตัวเอง เลือกทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ เด็กๆ ในระบบมอนเตสซอรีจะสร้างระบบความคิดแบบตัวของตัวเอง และการค้นพบตัวเอง โดยใช้ความคิดของตนในการตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด

                 5. อิสรเสรีภาพแบบมีขีดจำกัด   แม้เด็กๆ ในระบบมอนเตสซอรีจะมีความสุขกับอิสรเสรีภาพในการเลือกสิ่งต่างๆ แต่อิสรเสรีภาพนั้นๆ ควรมีขอบเขตที่จำกัดบ้าง โดยต้องจำกัดอย่างระมัดระวังและยังอยู่บนพื้นฐานของพฤฒิกรรมของเด็ก เด็กมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง และอยู่ในระเบียบของสังคม แต่ควรต้องนำทางเด็กบ้างหากออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป

                6. การเรียนรู้ด้วยวินัยของตัวเอง   ในระบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี เด็กมิได้เรียนเพื่อให้ได้คะแนนหรือรางวัลใดๆ หรือมิได้ทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายเพื่อเพียงให้เสร็จสิ้น เด็กๆ เรียนรู้เพราะเกิดจากความสนใจและความต้องการเรียนรู้ เพื่อให้ตนเป็นบุคคลที่มีคุณค่า และเป็นตัวของตัวเอง

 

สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยระบบมอนเตสซอรี

                7. กลุ่มคละอายุในสภาวะแวดล้อมที่ใช้ระบบมอนเตสซอรี จะมีการรวบรวมกลุ่มของเด็กที่มีอายุแตกต่างกัน หรือหลายกลุ่มอายุ รวมเป็นหนึ่งครอบครัว เด็กจะอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายปี โดยเด็กที่พัฒนาเต็มที่จะเปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มอายุอีกกลุ่มหนึ่ง  เมื่อเห็นว่ามีความพร้อม

                8. การจัดกลุ่มแบบครอบครัว  สภาวะ แห่งการเรียนแบบนี้ประกอบด้วยเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเติบโตมากขึ้น และมีความสามารถมากขึ้น เด็กจะเกิดความรับผิดชอบในการช่วยเหลือและดูแลสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เด็กๆ ที่เป็นรุ่นน้อง

                9. ความร่วมมือ มากกว่าการแข่งขัน  เด็กๆ ในระบบมอนเตสซอรี จะถูกส่งเสริมให้ปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน การดูถูกเหยียดหยามกัน เป็นพฤติกรรมที่มีน้อยลงมากเต็มที แต่เรากลับพบว่าเด็กๆ มีความรักกันและกัน ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันเพื่อชัยชนะ หรือเพื่อศักดิ์ศรี และเนื่องจากเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูจึงควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกันระหว่างเด็กคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง

               10. จริยธรรมในระบบมอนเตสซอรี ควรพัฒนาเด็กไปในทิศทางที่ให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีและเป็นสุภาพชน โดยค่อยๆ ทำให้เด็กได้รับการซึมซับสิ่งที่ดี ทั้งนี้ รวมถึง การมีความเคารพต่อตนเอง การยอมรับผู้อื่น ความมีจิตใจดี ความสงบ ความรัก ความมีจิตสำนึกที่ดี มีเกียรติ มีความรับผิดชอบ และมีความกล้าแสดงออกที่จะพูดแบบเปิดใจ

               11. บริการผู้อื่นหรือจิตอาสา มุมมองในด้านจิตใจของระบบมอนเตสซอรีทำให้เด็กมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือบริการ เอาใจใส่ผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่การช่วยเหลือเพื่อนในชั้นเรียน หรือในโรงเรียน จนถึงในระดับชุมชน ที่ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีจิตสำนึกในการให้ความช่วยเหลือผู้คนรอบข้าง

 

โดยสรุป

               ผู้ให้การศึกษาระบบมอนเตสซอรีทราบดีว่า บทบาทการสอนของตน ไม่สำคัญเท่ากับการจูงใจ การให้คำปรึกษา และการช่วยเหลือในกระบวนการเรียน การเรียนรู้อย่างแท้จริง เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง